การพูดต่อประชุมชน
การพูดต่อประชุมชน
คือ การพูดแสดงความรู้ ความคิดความรู้สึก รวมทั้งข้อเสนอ
แนะต่าง ๆ ต่อผู้ฟังจำนวนมากในที่ประชุมหรือในที่สาธารณะ
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องคำนึงในการพูดต่อประชุมชน คือ สารที่ผู้พูดส่งออกไป จะต้อง
ไม่มีข้อจำกัดว่ารับฟังได้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และในการพูดต่อหน้าประชุมชนจะต้องเปิดโอกาส
ให้ผู้ฟังแสดงความเห็นเพิ่มเติมซักถามข้อข้องใจหรือตั้งข้อสังเกตอื่น ๆ เมื่อผู้พูดพูดจบแล้ว
ความสำคัญของการพูดต่อประชุมชนในสังคมประชาธิปไตย การพูดต่อประชุมชนมีความสำคัญมากสรุปได้ดังนี้
1. เป็นวิธีเผยแพร่ความคิดเห็นของบุคคลที่สะดวกรวดเร็วให้ปรากฏแก่สาธารณชน
ทั้งในทางสนับสนุนและคัดค้าน
2. เป็นวิถีทางถ่ายทอดทางวัฒนธรรม ปลูกฝังคุณธรรม การเผยแพร่ความรู้ใหม่ ๆ
ไปสู่ประชาชน
3. เป็นวิถีทางทำให้มนุษย์ชี้แนะ การแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้แก่สังคมได้
ประเภทของการพูดต่อประชุมชน
แบ่งตามวิธีทำเสนอมี 4 ประเภท คือ
1. การพูดโดยฉับพลัน คือ การพูดโดยฉับพลันทันทีไม่รู้ตัวล่วงหน้ามาก่อน เช่น
ได้รับเชิญให้ขึ้นมาพูดอวยพรในงานมงคลสมรส
2. การพูดโดยอาศัยต้นร่าง ผู้พูดรู้ตัวล่วงหน้า ผู้พูดมักนำเค้าโครงเรื่องที่พูดทำ
ให้เกิดความมั่นใจในการพูดเป็นอย่างมาก
3. การพูดโดยวิธีการท่องจำมา ผู้พูดต้องเตรียมเขียนต้นฉบับแล้วท่องจำเนื้อหา
ทั้งหมดจนขึ้นใจ การพูดวิธีนี้เสียเวลามาก และไม่ใคร่เป็นธรรมชาติ
4. การพูดโดยวิธีอ่านจากร่าง คือ การอ่านต้นฉบับที่เตรียมไว้เป็นอย่างดี ส่วน
มากจะใช้ในโอกาสสำคัญ เช่น การกล่าวเป็นประชุม ฯลฯ เป็นต้น
การพูดต่อประชุมชนแบ่งตามความมุ่งหมายได้เป็น 4 ประเภท คือ
1. การพูดเพื่อให้ความรู้หรือข้อเท็จจริง ผู้พูดมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ
ที่เป็นประโยชนเป็นสำคัญอาจใช้วิธีบรรยาย พรรณนาเล่าเรื่อง เล่าเหตุการณ์ อธิบาย ชี้แจง
เสนอรายงาน เป็นต้น
2. การพูดเพื่อโน้มน้าวใจ เป็นการพูดจูงใจให้ผู้ฟังคล้อยตาม เช่น การโฆษณาสินค้า
เป็นต้น
3. การพูดเพื่อจรรโลงใจ เป็นการพูดเพื่อให้เบิกบานแจ่มใสยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น เช่น
การกล่าวคำสดุดี เป็นต้น
4. การพูดเพื่อค้นหาคำตอบ เป็นการพูดมุ่งให้ผู้ฟังช่วยขบคิดหาทางแก้ปัญหาตามที่ผู้
พูดชี้ให้เห็น ถือเป็นการพูดที่ค้นหาคำตอบ
การพูดต่อประชุมชนแบ่งตามเนื้อหาที่พูดได้ 3 ประเภท คือ
1. การพูดเกี่ยวกับนโยบาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักการ วิธีการที่จะทำต่อไปในอนาคต
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
2. การพูดเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วและพิสูจน์ให้เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็น
อย่างไร
3. การพูดเกี่ยวกับคุณค่าและคุณงามความดี อาจเป็นเรื่องของบุคคล กลุ่มบุคคล
วัตถุ หรือการกระทำต่าง ๆ ที่ยังมีคุณค่าและคุณงามความดีอยู่ในช่วงเวลานั้น
การพูดต่อประชุมชนแบ่งตามโอกาสได้ 3 ประเภท คือ
1. การพูดอย่างเป็นทางการ มักเป็นการพูดในพิธีการต่าง ๆ เช่น การกล่าวเปิดประชุม
ทางวิชาการ เป็นต้น
2. การพูดกึ่งทางการ เป็นการพูดที่ลดความเป็นแบบแผนลง เช่น การพูดอบรมนักเรียน
ประจำสัปดาห์ เป็นต้น
3. การพูดอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการพูดในบรรยากาศที่เป็นกันเอง เช่น การพูด
สังสรรค์วันคืนสู่เหย้าของนักเรียนเก่า เป็นต้น
การพูดต่อประชุมชนแบ่งตามรูปแบบได้ 5 ประเภท คือ
1. การสนทนาหน้าที่ประชุม มีผู้พูด 2 หรือมากกว่านั้นสนทนาซักถาม แลกเปลี่ยน
ความรู้ความคิดเห็นต่อหน้าที่ประชุม
2. การบรรยาย เป็นการพูดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นอาจบรรยายเดี่ยว หรือ
บรรยายหมู่ก็ได้ ผู้บรรยายเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
3. การอภิปรายเป็นคณะ เป็นการพูดของคณะบุคคลจำนวนประมาณ 3 - 5 คน
พูดแสดงความรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก
4. การซักถามหน้าที่ประชุม มีการแบ่งผู้พูดเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนผู้ฟังอาจมีจำนวน 1 คน หรือมากกว่านั้น ทำหน้าที่ซักถามปัญหา อีกฝ่ายหนึ่งประมาณ 2 - 4 คน
เป็นวิทยากรทำหน้าที่ตอบปัญหาต่าง ๆ
5. การโต้วาที เป็นการพูดโต้แย้งระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายเสนอญัตติ
อีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านญัตติ มีผู้ตัดสินชี้ขาดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายชนะ
การเตรียมตัวพูดต่อประชุมชน
การเตรียมตัวพูดเป็นอย่างดี จะช่วยให้ผู้พูดมีความมั่นใจ กล้าแสดงออก ลดความประหม่าเก้อเขินได้
หลักกว้าง ๆ ในการเตรียมตัวผู้พูดต่อหน้าประชุมชนมีดังนี้
1. กำหนดจุดมุ่งหมายของการพูด ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนทั้งจุดมุ่งหมาย
ทั่วไปและจุดมุ่งหมายเฉพาะเรื่อง
2. วิเคราะห์ผู้ฟัง ควรวิเคราะห์ผู้ฟังในด้าน จำนวน เพศ วัย สถานภาพทางสังคม
อาชีพ ความรู้ ความสนใจ ตลอดจนทัศนคติที่ผู้ฟังมีต่อเรื่องที่จะพูดหรือตัวผู้พูด
3. การกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะพูด ส่วนประกอบของเรื่องที่จะพูดคือ การ
กล่าวนำเนื้อเรื่อง การสรุป แต่ละส่วนให้เหมาะแก่เวลา
4. การรวบรวมเนื้อหาที่จะพูด อาจทำได้จากการอ่าน การสัมภาษณ์ ควรจดบันทึก
ข้อความรู้ที่รวบรวมลงในบัตรบันทึกให้เป็นระเบียบ ควรรู้จักเลือกใช้โสดทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ ประกอบการพูดด้วย
5. การทำเค้าโครงเรื่องลำดับเรื่องที่จะพูด จัดเป็นประเด็นที่สำคัญให้ชัดเจนเพื่อการพูดได้เป็นไปตามลำดับเนื้อเรื่องไม่สับสน
6. การเตรียมวิธีในภาษา ใช้คำกะทัดรัด เข้าใจง่าย ให้ละเว้นคำหยาบโลน
7. การซักซ้อมการพูด ควรซักซ้อมทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา อวัจนภาษาทำให้
การพูดประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น เช่น ลักษณะท่าทาง การใช้เสียง การใช้สายตา เป็นต้น
สัมฤทธิผลของการพูด
การพูดต่อประชุมชนจะสัมฤทธิผลได้เมื่อผู้พูดมีคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้
1. ผู้พูดต้องมีคุณธรรม
2. มีความรู้ดีและรู้จริงในเรื่องที่พูด
3. ผู้พูดต้องใช้เหตุผลต่าง ๆ มาสนับสนุนการพูดให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
4. รู้จักธรรมชาติของวิสัยของมนุษย์ โดยคำนึงถึงวัยพื้นฐานความรู้
5. รู้จักรวบรวมความคิดให้เป็นระบบได้
6. รู้จักใช้ภาษาให้มีประสิทธิผลทั้งในด้าน วัจนภาษา และอวัจนภาษา
การวิเคราะห์และประเมินค่าพฤติกรรมการพูดต่อประชุมชน
การวิเคราะห์ควรวิเคราะห์ในด้านผู้พูด สาร ผู้ฟังและประเมินค่าไปตามหัวข้อที่ได้
วิเคราะห์ไว้แล้วดังนี้
- ผู้พูดมีจุดมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่
- เตรียมตัวมาดีหรือไม่
- วิธีการนำเสนอเหมาะกับเนื้อหา ผู้ฟัง โอกาสเพียงใด
- มีคุณธรรมจรรยามารยาทปรารถนาเพียงใด
- การใช้ภาษาถูกต้องตามแบบแผนหรือไม่
สาร เนื้อหาของสารเหมาะกับโอกาสหรือไม่ มีประโยชน์เพียงใด เหมาะกับพื้นฐาน
ความรู้ผู้ฟังหรือไม่ ปริมาณของสารพอดีกับเวลา และจัดลำดับดีหรือไม่เพียงใด
ผู้ฟัง ผู้ฟังมีปฏิกิริยาตอบสนองความมุ่งหมายและให้ความสนใจผู้พูดมากน้อยเพียง
ใด