การรับสารด้วยการอ่าน
การรับสารด้วยการอ่าน
การอ่านอาจจำแนกตามวิธีใช้ความคิดหรือพฤติกรรมการคิดของผู้อ่านได้ดังนี้
การอ่านเก็บความรู้และการอ่านเอาเรื่อง
การอ่านเก็บความรู้และการอ่านเอาเรื่อง คือ การอ่านที่ผู้อ่านสามารถแยกได้ว่าข้อความใดสำคัญมาก ข้อความใดสำคัญน้อย เรียงลำดับข้อความรู้ต่างๆได้ถูกต้อง ในการอ่านบันเทิงสารคดี ผู้อ่านจะอ่านเอาเรื่อง คือ อ่านเพื่อจะได้รู้เรื่องย่อ ลำดับเหตุการณ์ต่างๆและเล่าให้ผู้อื่นฟัง
การอ่านวิเคราะห์
การอ่านวิเคราะห์ คือ การอ่านโดยพิจารณาส่วนต่างๆ ของเรื่องที่อ่านให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน เช่น การอ่านหนังสือแบบเรียน หนังสือวิชาการ
การอ่านตีความ
การอ่านตีความ คือ การอ่านในข้อคิดค้นว่าผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเกิดความคิด หรือรู้สึกอะไรบ้าง การตีความจะเป็นไปตามประสบการณ์และความรู้ของผู้อ่านแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
การอ่านวิเคราะห์และวินิจสาร
1. การอ่านวิเคราะห์สาร คือ การอ่านวิเคราะห์รูปแบบ เนื้อหา และกลวิธีการเสนอเรื่อง
2. การอ่านวินิจสาร คือ การอ่านที่พิจารณาว่าตอนใดเป็นข้อเท็จจริง ตอนใดเป็นทรรศนะตอนใดแสดงอารมณ์ความรู้สึก พิจารณาถึงเจตนาของผู้เขียนว่าต้องการให้ผู้อ่านตอบสนองอย่างไร หรือต้องการให้ผู้อ่านได้รับแง่คิดอะไร และพิจารณาว่าอะไรเป็นสาระสำคัญที่สุด และอะไรเป็นสาระสำคัญรองๆลงไป
ในการอ่านวิเคราะห์และวินิจสาร ผู้อ่านอาจจะเกิดความคิดแทรก ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่อ่านหรือเกิดความคิดเสริม ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดหลังจากที่อ่านจบแล้วหรือไม่ก็ได้
การอ่านเพื่อพัฒนาตนเอง
- 1. พัฒนาตนเองทางด้านความรู้ เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ วารสารต่างๆ
- 2. พัฒนาตนเองทางด้านอารมณ์ เช่น อ่านนวนิยาย บทกวีต่างๆ
- 3. พัฒนาตนเองทางด้านคุณธรรม เช่น อ่านหนังสือธรรมะ คตินิยายต่างๆ
การอ่านหนังสือพิมพ์
การอ่านหนังสือพิมพ์จะทำให้ให้เรารอบรู้ และรู้ทันเหตุการณ์ เพราะหนังสือพิมพ์เสนอ
ข่าวซึ่งเป็นรายงานเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นประจำวัน
ข่าวในหนังสือพิมพ์แบ่งเป็น 2 ส่วน
- 1. พาดหัวข่าว นิยมพิมพ์ด้วยอักษรตัวหนา สะดุดตาผู้อ่าน
- 2. ตัวข่าว ประกอบด้วย วรรคนำ และเนื้อหา
วรรคนำ เป็นส่วนที่สรุปข่าว หรือส่วนที่นำจุดสำคัญของข่าวมาเกริ่นไว้เพื่อดึงดูดความ
สนใจ
เนื้อข่าว เป็นส่วนที่บรรยายข่าวโดยละเอียด
การอ่านข่าว เรามักจะอ่านผ่านๆ คือ อ่านพาดหัวข่าว และวรรคนำ ถ้าสนใจจึงจะอ่านเนื้อข่าว
ข่าวหนังสือพิมพ์อาจจะไม่ใช่รายงานเหตุการณ์ตามความเป็นจริงเสมอไป ผู้เสนอข่าวอาจเพิ่มเติมข้อความหรือใช้ถ้อยคำให้ออกรสยิ่งขึ้น ในการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ นักเรียนจึงควรพิจารณาให้ดีก่อน วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้คือ เปรียบเทียบข่าวเรื่องเดียวกันกับหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ วิทยุ โทรทัศน์ สอบถามจากเพื่อนๆ จากผู้ใหญ่ พิจารณาจากความคิดเห็นของหลายๆ คนประกอบกับการใช้ดุลพินิจของตนเองด้วย
การอ่านบทความ
บทความ คือ งานเขียนที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อสื่อสารกับผู้อ่านจำนวนมาก ประกอบด้วยส่วนนำ ตัวเรื่อง ส่วนที่ลงท้าย และที่ขาดไม่ได้คือ สาระสำคัญซึ่งผู้เขียนมุ่งส่งถึงผู้อ่าน สาระสำคัญนี้โดยปกติจะอยู่ในส่วนที่เป็นตัวเรื่อง แต่ผู้เขียนอาจจะวางไว้ในส่วนนำ หรือส่วนที่ลงท้ายก็ได้
1. ส่วนนำของบทความ เป็นส่วนที่ผู้เขียนใช้เร้าความสนใจให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อไป บทความที่ผู้เขียนไม่เขียนส่วนนำเลยจะเข้าลักษณะ "ไม่มีโหมโรงเลย จับเรื่องเลยทีเดียว"
การเขียนส่วนนำของบทความ อาจใช้สุภาษิต คำประพันธ์ หรือ คำกล่าวที่สอดคล้องกับสารที่ส่งในเรื่อง เพื่อเตรียมนำผู้อ่านเข้าสู่ตัวเรื่อง
2. เนื้อหาในบทความ เนื้อหาของบทความอาจเป็นข้อเท็จจริง หรือข้อความรู้ ข้อคิดเห็น ข้อแสดงอารมณ์ ลักษณะเนื้อหาเหล่านี้อาจจะคละกันในบทความเรื่องเดียวกัน โดยน้ำหนักต่างกันไปหรืออาจมีลักษณะเดียวในบทความเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ได้
3. ประเภทบทความ แบ่งกว้างๆ ได้เป็น 3 ประเภทตามเนื้อหาในบทความคือ
1) บทความให้ความรู้
2) บทความจรรโลงใจ
3) บทความแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ